แถลงการณ์
เรื่องขยายระยะเวลาการเช่า และการขยายสิทธิของคนต่างชาติในการซื้ออาคารชุด
18 สมาคมด้านอสังหาริมทรัพย์ และภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง มุ่งวางโครงสร้างธุรกิจอสังหาฯ และจัดระเบียบควบคุมการอยู่อาศัยของชาวต่างชาติ ให้เป็นไปด้วยความถูกต้อง สุจริต โปร่งใสเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจ สังคม และประชาชนทุกกลุ่มในประเทศ
ตามที่มีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 เรื่องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาเรื่องของการขยายระยะเวลาการเช่าจาก 30 ปีเป็น 99 ปี และจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา สมาคมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์ ประกอบด้วย สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร สมาคมอาคารชุดไทย สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน สมาคมการขาย และการตลาดอสังหาริมทรัพย์ สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทย สมาคมหินอ่อน และหินแกรนิตไทย และสมาคมอสังหาริมทรัพย์ภูมิภาค รวม 18 สมาคม มีความเห็นว่า
1. จากความต้องการในการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ ที่ต้องการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ทำให้ความต้องการ ความมั่นคงในที่อยู่อาศัย ชาวต่างชาติ ก็ตามมาด้วย การขยายระยะเวลาเช่าจาก 30 ปี เป็น 99 ปี และให้การเช่าเป็นทรัพยสิทธิ ถือว่าเป็นระยะเวลาที่มีความมั่นคงเพียงพอ และจะทำให้การเช่าที่อยู่อาศัยของชาวต่างชาติ เป็นไปด้วยความถูกต้อง โปร่งใส ตรวจสอบได้ ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาการซื้อที่อยู่อาศัยหรือการเช่าที่อยู่อาศัยโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ของชาวต่างชาติได้ สำหรับข้อกังวลในเรื่องที่ชาวต่างชาติจะถือครองที่ดินทางอ้อม หรือใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม ก็สามารถวางกรอบของกฎหมายที่กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน ตามข้อกำหนดของผังเมือง กำหนดเขตพื้นที่ หรือจำนวนเนื้อที่ สำหรับการเช่าของชาวต่างชาติได้ ฯลฯ
สำหรับประโยชน์ของคนไทย ที่จะได้รับโดยตรงจากการขยายระยะเวลาเช่าคือ การที่มีที่ดินจำนวนมากทั้งในเขตใจกลางเมือง และนอกเมือง ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ เป็นที่ดินของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐ และที่ดินของภาคเอกชนที่ไม่มีความประสงค์จะจำหน่ายที่ดินออกมา สิทธิการเช่าระยะยาวจะเป็นหลักประกัน ที่จะทำให้คนไทยเองสามารถลงทุนระยะยาว ทั้งด้านการอยู่อาศัย การลงทุนด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และประกอบธุรกิจอื่นๆ รวมถึง การใช้สัญญาเช่าเป็นหลักประกัน ในการขอสินเชื่อ จากสถาบันการเงิน และเป็นมรดกตกทอดได้เช่นเดียวกัน
2.การขยาย สิทธิการถือครองห้องชุดในอาคารชุดของคนต่างชาติจาก 49% ให้เป็น 75% จะเป็นการสนับสนุนให้ชาวต่างชาติที่มาลงทุน หรือมีวัตถุประสงค์จะอยู่อาศัยในประเทศไทย ได้ซื้อที่อยู่อาศัยโดยถูกต้องตามกฎหมาย แก้ปัญหาในเรื่องการซื้อหรือการถือครองที่อยู่อาศัยโดยไม่ถูกต้อง ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการถือครองที่ดินโดยทางอ้อมหรือกระทบต่อสิทธิของคนไทยในการอยู่อาศัยในอาคารชุด ก็อาจออกระเบียบเพิ่มเติมในเรื่อง
2.1.สละสิทธิการโหวตของชาวต่างชาติ ในจำนวนที่เกินกว่า 49%
2.2.การจำกัดจำนวนที่ดิน ไม่เกิน 5 ไร่ สำหรับโครงการที่ชาวต่างชาติถือ กรรมสิทธิ์ เกินกว่า 49% ไม่เกิน 75% เพื่อมิให้เกิดการถือครองที่ดินโดยทางอ้อม
2.3.จัดเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนนิติกรรม และภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างรายปี ที่สูงกว่าคนไทยในอัตราที่กำหนด โดยนำส่วนเกินจากการจัดเก็บในอัตราที่คนไทยต้องเสีย เข้ากองทุนสนับสนุนการมีบ้านของประชาชนชาวไทยที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง ที่ริเริ่ม และจัดตั้งขึ้นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในระยะยาว
2.4.ระเบียบอื่นๆ ที่จะไม่กระทบถึงสิทธิ และการอยู่อาศัยของคนไทย เช่น
2.4.1.ผู้จัดการนิติบุคคล ประธานนิติบุคคล ต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย เท่านั้น
2.4.2.จำนวนคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดชาวต่างชาติ ต้องไม่เกินกึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด
2.4.3.รักษาสิทธิเสียงข้างน้อยคนไทย โดยสิทธิออกเสียงของชาวต่างชาติรวมกันต้องไม่เกินเสียงข้างน้อยของคนไทยในลงคะแนนประชุม เช่นเดียวกับการรักษาสิทธิ และเสียงผู้ถือกรรมสิทธิ์รายย่อยที่มีอยู่เดิม
2.4.4. ฯลฯ
2.5.พื้นที่ ที่จะอนุญาตให้ชาวต่างชาติถือครองอาคารชุดได้เกินกว่า 49% แต่ไม่เกิน 75% มิได้อนุญาตให้ถือครองเป็นการทั่วไปในทุกพื้นที่ แต่ควรจัดทำประกาศกระทรวงเป็นครั้งคราวไป โดยในเบื้องต้นอาจกำหนดเพียง 3 พื้นที่คือ กรุงเทพมหานคร ภูเก็ต และเมืองพัทยา
ทั้งนี้ได้เคยมีการ แก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติอาคารชุดในปี 2542 ที่ให้ชาวต่างชาติถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดได้ถึง 100% มีกำหนดเวลา 5 ปี เพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์เศรษฐกิจในช่วงเวลาดังกล่าว พร้อมทั้งมีกฎหมายลำดับรองที่มีการควบคุมป้องกันไม่ให้กระทบสิทธิของคนไทยในการอยู่อาศัยในอาคารชุด และในช่วง 5 ปีที่ให้ชาวต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์ได้ถึง 100% ในอาคารชุดก็มิได้มีผลกระทบต่อความสามารถในการซื้อ หรืออยู่อาศัยในอาคารชุดของคนไทยแต่อย่างใด
ทั้งนี้ 18 สมาคมด้านอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง มีความเห็นว่าการแก้ไขกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการลงทุน และจะเป็นการวางโครงสร้างการใช้ประโยชน์ที่ดิน โครงสร้างการอยู่อาศัยของประเทศ ให้สอดคล้องกับบริบทของเศรษฐกิจ และสังคมโลก ที่มีการเปลี่ยนแปลงไป และจะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ในระยะยาวต่อไป
รายชื่อ สมาคมด้านอสังหาริมทรัพย์ ประกอบด้วย
1.นายอิสระ บุญยัง นายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร
2.นายวสันต์ เคียงศิริ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร
3.นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย
4.นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย
5.นายโอฬาร จันทร์ภู่ นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน
6.นายปรีชา ศุภปีติพร นายกสมาคมการขายและการตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทย
7.นายประวิทย์ อนุศิริ นายกสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทย
8.นายสมเกียรติ จิตสร้างบุญ นายกสมาคมหินอ่อนและแกรนิตไทย
9.นายวัฒนพล ผลชีวิน นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ชลบุรี
10.นายทายาท กาญจนจิตรา นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ระยอง
11.นายณัฐพงษ์ ประสารศิวมัย นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดนครราชสีมา
12.นายจตุรงค์ ธนะปุระ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์อุดรธานี
13.นายมงคล เหลี่ยมวัฒนกุล นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์พิษณุโลก
14.นายชินะ สุทธาธนโชติ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์เชียงราย
15.นายเมธาพงศ์ อุปัติศฤงค์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ภูเก็ต
16.นายวรัชญ์ ปริสุทธิ์กุล นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์สงขลา
17.นายปรีชา กุลไพศาลธรรม นายกสมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์นนทบุรี
18.นายธนวัฒน์ พูนศิลป์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ 3 จังหวัดชายแดนใต้
19.นายสรนันท์ เศรษฐี นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์เชียงใหม่